Spengler, Oswald Arnold Gottfried (1880-1936)

นายออสวอลด์ อาร์โนลด์ กอทท์ฟรีด ชเปงเลอร์ (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๙)

ออสวอลด์ อาร์โนลด์ กอทท์ฟรีด ชเปงเลอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์ นักปราชญ์ และนักเขียนชาวเยอรมันที่มีความสนใจในศาสตร์ต่าง ๆ หลายด้าน รวมทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคิลปะ งานเขียนของเขาครอบคลุมเนื้อหากว้างขวางที่รวมกิจกรรมหลากหลายของมนุษย์ ในห้วงเวลานับพัน ๆ ปี ชเปงเลอร์มีงานเขียนทางวิชาการที่ตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ที่สำคัญได้แก่หนังสือประวัติศาสตร์ชื่อ The Decline of the West (ค.ศ. ๑๙๑๘) ซึ่งจำหน่ายได้กว่า ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม ต่อมาได้รับการปรับปรุงแก้ไขและตีพิมพ์ใหม่ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ตามมาด้วยเล่ม ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ทั้ง ๒ เล่ม แม้จะเป็นหนังสือวิชาการที่อ่านเข้าใจยาก แต่ก็ได้สร้างปรากฏการณ์การวิพากษ์ทางวิชาการอย่างกว้างขวางและมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ หลายภาษา นอกจากนั้น ยังมีหนังสือเรื่อง The Prussianism and Socialism (ค.ศ. ๑๙๒๐) The Man and Technics (ค.ศ. ๑๙๓๑) และ The Hour of Decision (ค.ศ. ๑๙๓๔) โดยเฉพาะเล่มหลังเป็นหนังสือขายดีที่สุดแห่งปี

 ชเปงเลอร์เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๘๐ ที่เมืองบลังเคนบูร์ก (Blankenburg) ชนบทเล็ก ๆ เชิงเขา ฮาร์ซ (Harz) ในเยอรมนีตอนกลาง แม้บรรพบุรุษฝ่ายบิดาจะสืบเชื้อสายมาจากผู้ที่ทำงานเหมืองมาหลายชั่วอายุคนแต่บิดาของเขาก็หันไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในตำแหน่งพนักงานไปรษณีย์ที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายพอควร ชเปงเลอร์เป็นบุตรชายคนโตและมีน้องสาว ๓ คน เขาเป็นเด็กขี้โรคและมีโรคประจำตัว


คือไมเกรนที่ทำให้ปวดศีรษะบ่อย ๆ ชเปงเลอร์จิงต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ โชคดีที่มารดาเป็นแม่บ้านเต็มตัว จึงมีเวลาอุทิศให้กับครอบครัวได้อย่างเต็มที่ชเปงเลอร์เป็นเด็กเก็บตัว ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับบ้านอ่านหนังสือและทำงานคิลปะที่มารดาถ่ายทอดให้ เมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ ครอบครัวย้ายไปอยู่เมืองฮัลเลอ (Halle) ซึ่งเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ทำให้เขามีโอกาสเขาเรียนในโรงเรียนและได้เรียนวิชาคลาสสิกที่เขาชอบ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาดิ ภาษากรีก-ละติน วรรณคดี ศิลปะ และดนตรี นอกชั้นเรียนเขายังสนใจอ่านกวินิพนธ์และหนังสือปรัชญาของกวีและนักปราชญ์ชาวเยอรมันหลายคน เช่น โยฮันน์ วุลฟ์กัง ฟอน เกอเทอ (Johann Wolfgang von Goethe) ฟรีดริช วิลเฮล์ม นีทเชอ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) นอกจากนั้น เขายังใช้เวลาว่างสร้างสรรค์งานศิลปะหลายรูปแบบซึ่งปัจจุบันยังมืหลงเหลืออยู่ให้เห็นบ้าง

 บิดาเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๐๑ ขณะที่ชเปงเลอร์อายุได้ ๒๑ ปี และเป็นช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิวนิกซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุดของหนุ่มสาวขณะนั้นแต่เมื่อเรียนไปได้ ๑ ปี เขาย้ายไปลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน แล้วจึงตัดสินใจกลับบ้านมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮัลเลอ ตลอดเวลาที่เขาเรียนวิชาต่าง ๆ ที่ต่อยอดจากที่เขาได้เรียนในระดับมัธยม เขาไม่เคยเข้าชั้นเรียนและปฏิเสธการมีติวเตอร์หรืออาจารย์ที่ปรึกษาที่คอยให้คำแนะนำในการเรียนรู้และการทำรายงาน เพราะเขาชอบที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้หลาย ๆ ด้านพร้อมกันไป ที่น่าแปลกคือเขาสอบผ่านไปได้จนถึงระดับปริญญาเอก แต่เนื่องจากเขาไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นระบบในการทำรายงานและทำวิจัยทางวิชาการ ทำให้วิทยานิพนธ์ฉบับแรกของเขาไม่ผ่านอย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ วิทยานิพนธ์ฉบับปรับปรุงของเขาก็ผ่านไปได้ด้วยดี แต่เขาไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาให้สอนในระดับมหาวิทยาลัย ชเปงเลอร์จึงต้องทำวิจัยเพิ่มเติมพร้อมทั้งเข้าสอบเพื่อรับประกาศน็ยบัตรสำหรับครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษา

 หลัง ค.ศ. ๑๙๐๕ ชเปงเลอร์สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์กายภาพ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดีที่โรงเรียนมัธยมในเมืองซาร์บรึกเคิน (Saarbrücken) ต่อมาจึงย้ายไปสอนที่เมืองดึสเซลดอร์ฟ (Düsseldorf) และเมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ตามลำดับ แม้เขาจะเป็นครูที่ดีและขยันขันแข็งแต่ชเปงเลอร์ไม่ชอบงานสอนเพราะเขาเห็นว่าเป็นงานจำเจน่าเบื่อ เขาอยากจะทำงานอิสระ เป็นตัวของตัวเอง มีโอกาสสานฝันและสร้างจินตนาการโดยผ่านงานเขียนและงานศิลปะ ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เมื่อมารดาเสียชีวิต ชเปงเลอร์เริ่มเห็นโอกาสที่จะมีทางเลือกมากขึ้น เพราะมารดาได้ทิ้งมรดกจำนวนหนี่งไว้ให้เขา แม้จะไม่มากนักแต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เขาอยู่อย่างประหยัดไปได้หลายปีโดยไม่ต้องคำนึงถึงการทำงานหาเงินอย่างจริงจังใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เขาจึงตัดสินใจเลิกอาชีพ สอนหนังสือแล้วย้ายไปอยู่เมืองมิวนิก แม้จะต้องอยู่อย่างประหยัด แต่ก็มีโอกาสใช้ชีวิตส่วนหนึ่งอย่างนักคิดนักเขียนอิสระ และอีกส่วนหนึ่งทำงานเป็นติวเตอร์และเขียนบทความลงนิตยสารเพื่อหารายได้เพิ่มเติม

 สำหรับชเปงเลอร์ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างมิวนิกเป็นชีวิตที่โดดเดี่ยว เงียบเหงา และว้าเหว่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในงานกวีนิพนธ์ บทละคร และเรื่องสั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุโรปที่คนทั่วไปมีโอกาสสัมผัสได้ เขาจึงหันมาสนใจสร้างผลงานด้านประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างจริงจัง ประสบการณ์ชีวิต ของชเปงเลอร์ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทำให้เขาเห็นว่ายุโรปซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกตะวันตกกำลังมีความเชื่อมั่นในอำนาจความยิ่งใหญ่ทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และวัฒนธรรมของตนเอง เป็นยุคความรุ่งโรจน์ของทุนนิยมชาตินิยม จักรวรรดินิยม และลัทธินิยมทหารขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งรุนแรงและความแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายของประเทศในยุโรป เกิดการล่มสลายของระบอบเก่าในรัสเซีย และสำคัญที่สุดคือเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งนำความสูญเสียใหญ่หลวงมาให้แก่ยุโรป เขาเห็นว่าสงครามโลกเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและเป็นการประกาศให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโลกตะวันตกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์ทางประวัติศาสตร์” (historical crisis) ซึ่งอธิบายได้อย่างกว้างขวางทั้งในระดับโลกและครอบคลุมวัฒนธรรมทุกภาคส่วน นอกจากนั้น เขายังเห็นอีกด้วยว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้น บ่งบอกได้ว่ายุโรปกำลังก้าวไปสู่ภาวะการฆ่าตัวตาย และเป็นปัจจัยแรกที่นำไปสู่การเสื่อมสลายของวัฒนธรรมยุโรปในบริบทของโลกและของประวัติศาสตร์

 เมื่อชเปงเลอร์หันมาจริงจังกับงานเขียนทางวิชาการ โดยเริ่มที่ The Decline of the West ในช่วงที่สงครามโลกเกิดขึ้นใหม่ ๆ เขาจึงไม่มีเวลาทำงานพิเศษเพื่อหารายได้เสริมประกอบกับได้นำเงินมรดกส่วนใหญ่ไปลงทุนในต่างแดนเพื่อหวังจะนำเอาดอกผลมาใช้จ่าย แต่สงครามทำให้รายได้ถึงมือเขาล่าช้ากว่าปรกติและจำนวนที่ได้ก็น้อยลงมาก ทำให้ ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาฝืดเคืองถึงขั้นยากจนอย่างยิ่งชเปงเลอร์ยังคงเขียนหนังสือต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ แม้บ่อยครั้งมีเพียงแสงเทียนให้แสงสว่าง หนังสือเล่มแรกของเขาสำเร็จสมบูรณ์พร้อมจะพิมพ์ได้ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ แต่เขาก็ต้องเผชิญกับปัญหาในการหาสำนักพิมพ์เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระหนักหน่วง ประกอบกับประเทศกำลังอยู่ในภาวะสงคราม อย่างไรก็ดี ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ สงครามโลก ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมนี แต่เป็นความโชคดีชองชเปงเลอร์ที่หนังสือชองเขาได้รับการตีพิมพ์และภายในเวลา ๑ ปีก็ได้สร้างปรากฏการณ์ให้แก่วงการหนังสือโดยเฉพาะเป็นหนังสือวิชาการที่ทำยอดจำหน่ายสูงเกินความคาดหมายโดยไม่นับรวมฉบับแปลเป็นภาษาต่าง ๆ อีกหลายภาษา หนังสือของเขาได้รับความนิยมไปทั่วทั้งยุโรป ค.ศ. ๑๙๑๙ จึงเป็น “ปีของชเปงเลอร์” อย่างแท้จริงสภาพการณ์หลังสงครามทำให้คนเห็นว่าสิ่งที่ชเปงเลอร์นำเสนอในหนังสือของเขาเป็นความจริงจึงยิ่งทำให้หนังสือขายดียิ่งขึ้น เมื่อชเปงเลอร์ตัดสินใจพิมพ์ฉบับปรับปรุงใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เล่มแรกก็จำหน่ายได้เกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ เล่มแล้ว ทำให้ชเปงเลอร์เกิดกำลังใจและเร่งทำให้เล่ม ๒ เสร็จสมบูรณ์และจัดพิมพ์ได้ใน ค.ศ. ๑๙๒๓

 หนังสือ The Decline of the West เล่ม ๑ (หรืออีกชื่อหนึ่ง Form and Actuality) และเล่ม ๒ (หรืออีกชื่อหนึ่ง Perspectives of World History) เป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบของการเกิด ความเจริญเติบโต ความเสื่อม และการสูญสลายของวัฒนธรรมโลก ๘ วัฒนธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมบาบิโลเนีย วัฒนธรรมอินเดีย วัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมอียิปต์ วัฒนธรรมมายัน-อัซเต็ก (Mayan-Aztec) วัฒนธรรมกรีก-โรมัน วัฒนธรรมแมเจียน [(Magian) ซึ่งครอบคลุมวัฒนธรรมอาหรับ เปอร์เซีย ซีเรีย ยิว ไบแซนไทน์ และอิสลาม] และวัฒนธรรมยุโรปตะวันตก ความน่าสนใจของการศึกษาของเขาอยู่ที่วิธีการเข้าถึงประวัติศาสตร์โดยชเปงเลอร์เรียกวิธีการนื้ว่า “physiogmatic approach” ซึ่งเป็นการมองเข้าไปในเรื่องต่าง ๆ จนถึงแก่นหรือหัวใจของสิ่งนั้น ๆ บางครั้งอาจเป็นการมองที่ไม่เฉพาะแต่ที่เห็นได้หรือสัมผัสได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่อาจมองได้ด้วยจินตนาการและสัญชาตญาณ ชเปงเลอร์เชื่อว่าด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้สามารถแยกแยะปมปัญหาของประวัติศาสตร์และแม้แต่กำหนดทิศทางของประวัติศาสตร์มนุษยชาติล่วงหน้าได้ การเขียนประวัติศาสตร์ของชเปงเลอร์จึงไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานอ้างอิงแน่นหน้ามากจนเกินไปเพราะเขาเชื่อว่าบางครั้งความเป็นไปได้หรือความน่าจะเป็นก็เพียงพอแล้ว

 ชเปงเลอร์ยังเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงสภาพตลอดเวลา เพียงแต่การเคลื่อนไหวนั้นจะไม่ดำเนินไปในแนวนอน (linear) และก้าวหน้าจากตํ่าสุดไปถึงสูงสุดเป็นขั้นบันได อย่างที่นักวิชาการหรือนักคิดจำนวนมากเข้าใจกัน เขาเชื่อว่าวัฒนธรรมในโลกนี้มีการเคลื่อนไหวเป็นวงกลม (cyclic) ที่มีวงจรแน่นอนเริ่มต้นจากการเกิดขึ้น เจริญเติบใหญ่ ถดถอย และเสื่อมสลายเลียนแบบธรรมชาติ แต่ละวงจรใช้เวลาประมาณ ๑,๐๐๐ ปี ในการเคลื่อนไหวที่เป็นเอกเทศ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวงจรอื่น อย่างไรก็ดี ภายในวงจรแต่ละวงจรนั้นการเคลื่อนไหวต้องเป็นทั้งองคาพยพของวัฒนธรรมระดับสูงที่ครอบคลุมเรื่องของรัฐ ผู้คนพลเมืองทุกเชื้อชาติ ศาสนา ศิลปะ ดนตรี ความนึกคิด ที่รวมเป็นจิตวิญญาณของวัฒนธรรมนั้น ๆ จากการศึกษาวัฒนธรรมโลกทั้ง ๘ วัฒนธรรมชเปงเลอร์เห็นว่ามี ๓ วัฒนธรรมที่ครบวงจรชีวิตไปนานแล้ว คือ บาบิโลเนีย อียิปต์ และกรีก-โรมัน อีก ๓ วัฒนธรรมคือ อินเดีย จีน และอาหรับ-เปอร์เซีย ซึ่งอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมแมเจียนกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงที่เลยการเติบโตเต็มที่สู่ภาวะ “สูงวัย” ขณะที่วัฒนธรรมแมเจียนบางสาขาไม่ได้รับการวิเคราะห์มากนัก นอกจากความเป็นมาของอิสลามที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งด้านจิตวิญญาณให้แก่วัฒนธรรมกลุ่มนี้ซึ่งทำให้เป็นวัฒนธรรมที่กำลังอยู่ในวงจรชีวิตเช่นเดียวกับวัฒนธรรมยุโรปตะวันตก ชเปงเลอร์นำเสนอวิวัฒนาการของยุโรปตะวันตกตั้งแต่สมัยกลางจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ทำให้เห็นว่า แม้จะกำลังอยู่ในวงจรชีวิต แต่ยุโรปตะวันตก ก็ผ่านเลยชีวิตที่เติบโตเต็มที่เข้าสู่ “วัยทอง” ที่กำลังปรากฏร่องรอยของความเลื่อมโทรมของ “ภาวะสูงวัย” ซึ่งเป็นการฉายภาพของการมองโลกตะวันตกในแง่ร้ายอย่างไม่คย มีใครเคยทำมาก่อน

 หนังสือ The Decline of the West ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการจำนวนมาก บางคนถึงกับประณามชเปงเลอร์ว่าไม่ใช่นักประวัติศาสตร์อาชีพโดยวิเคราะห์จากทั้งวิธีการทางประวัติศาสตร์ (historical method) ที่เขาใช้และประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography) ที่เขาไม่ชอบใช้หลักฐานอ้างอิงตามรูปแบบการเขียนของวิชาการ นอกจากนั้น หลายคนยังไม่ยอมรับทฤษฎีความเป็นไปได้ไนประวัติศาสตร์ของเขา ทั้งยังไม่ยอมรับว่ายุโรปตะวันตกกำลังเลื่อมสลาย อย่างไรก็ดี สถานการณ์หลังสงครามในยุโรปที่มีความเสียหายใหญ่หลวงเกิดขึ้นทั้งในประเทศที่พ่ายแพ้และชนะสงครามทำให้คนทั่วไปที่ได้อ่านหนังสือของชเปงเลอร์เริ่มเห็นคล้อยตามว่ายุโรปกำลังมีปัญหา และยิ่งเมื่อเกิดการปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในรัสเซีย เกิดการทำทายของลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดูเหมือนว่าโลกทุนนิยมกำลังมีปัญหา ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างแรงทั้งทางด้านจิตใจและด้านชีวิตความเป็นอยู่ภาพของวัฒนธรรมยุโรปที่ชเปงเลอร์ฉายให้เห็นในหนังสือของเขาจึงดูเป็นสิ่งถูกต้อง ทำให้หนังสือของเขาได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็ย่อมเข้าใจได้ว่าเขาได้รับเงินจากค่าลิขสิทธิ์จำนวนมากด้วย เป็นครั้งแรก ที่ชเปงเลอร์สามารถเดินทางไปบรรยายพิเศษทั่วทั้งประเทศรวมทั้งต่างประเทศ เช่น อิตาลี สเปน ลิทัวเนีย ลัตเวีย ฟินแลนด์ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์จริงในโลกนอกเขตเยอรมนี

 ในช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ ขณะที่หนังสือ The Decline of the West กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนและสร้างความตื่นตัวในวงวิชาการประวัติศาสตร์อย่างสูงชเปงเลอร์ได้ลองหันมาเขียนงานวิพากษ์เกี่ยวกับปัญหาการเมืองในเยอรมนีดูบ้าง งานขึ้นแรกชื่อ Prussianism and Socialism ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ เป็นความพยายามที่จะเชื่อมโยงแนวคิดของความเป็นปรัสเซียนิยม (Prussianism) ซึ่งเป็นจิตวิญญาณแท้จริงของคนเยอรมันกับแนวคิดและขบวนการลัทธิสังคมนิยม (Socialism) และลัทธิมากซ์ (Marxism)* ที่กำลังพัฒนาขึ้นในเยอรมนี ชเปงเลอร์เห็นความเป็นไปได้ที่ทั้ง ๒ กลุ่มแนวคิดจะผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้ภายใต้ชื่อ “สังคมนิยมแนวปรัสเซีย” (Prussian Socialism) แต่มีนักวิชาการจำนวนมากไม่ยอมรับว่าจะเป็นเรื่องจริงได้เพราะเห็นว่าเพียงแต่คิดก็เป็นเรื่อง “แปลกประหลาด” และเพ้อฝันเกินไปแล้ว อย่างไรก็ดี ในเวลาไม่นานหลังจากนั้นชาวเยอรมันก็มีประสบการณ์จริงกับ “สังคมนิยมแนวชาตินิยม” (national socialism) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ลัทธินาซี (Nazism) ชเปงเลอร์ จึงกลายเป็นนักทำนายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวาง ในเวลาต่อมา เขาได้รับเชิญจากแกนนำในพรรคนาซีให้ช่วยงานด้านโฆษณาชวนเชื่อให้กับพรรค แต่เขาปฏิเสธเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่อต้านชาวยิวและคตินิยมเชื้อชาติ (racism) รุนแรงของพวกนาซีซึ่งจะทำให้เกิดการสังหารอย่างต่อเนื่องเพื่อจะรักษาอำนาจของตนไว้และขณะเดียวกันก็เพื่อให้ความพยายามกำจัดชาวยิวอย่างบ้าคลั่งบรรลุผล

 ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๔ ชเปงเลอร์หันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจัง เขาเขียนบทความแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการโจมตีความอ่อนแอของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* และผู้นำในระบอบใหม่ที่ขาดความเข้มแข็ง เขาเห็นว่าเยอรมนีควรมีผู้นำในแบบฉบับที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์คือผู้นำที่มีอำนาจมากอาจถึงขั้นเป็นเผด็จการแต่ก็ควรเป็นเผด็จการที่มีคุณธรรมเขาเคยเสนอชื่อนายพลฮันส์ ฟอน เซคท์ (Hans von Seeckt)* ว่าเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำประเทศ แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ชเปงเลอร์จึงรู้สึกผิดหวังกับการเมืองเยอรมันขณะนั้น ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ เขาจึงหันมาสร้างผลงานประวัติศาสตร์ที่ห่างไกลจากการเมือง หนังสือชื่อ The Man and Technics ตีพิมพ์ ค.ศ. ๑๙๓๑ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยีต่อพัฒนาการของสังคมมนุษย์โดยเริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ชเปงเลอร์ให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างวัฒนธรรมในแต่ละยุคแต่ละสมัย และขณะเดียวกันก็เป็นอันตรายอย่างมากด้วยเช่นกัน เขากล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นลักษณะพิเศษของกลุ่มวัฒนธรรมยุโรปตะวันตก ทำให้เกิดลัทธิอุตสาหกรรมนิยมและทุนนิยมที่กำลังจะเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมของตนเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งเหล่านี้ขยายตัวออกไปนอกเขตยุโรป ประชาชนที่ได้รับอิทธิพลของเทคโนโลยีทันสมัยอาจใช้เทคโนโลยีนั้นมาทำลายชาวยุโรปตะวันตกได้ในท้ายที่สุด การเตือนภัยล่วงหน้าของชเปงเลอร์แม้จะออกมาในลักษณะที่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายแต่เขาก็ให้เหตุผลว่า “การมองทุกอย่างในแง่ดีก็เป็นความขลาดเขลา” (Optimism is cowardice)

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ชเปงเลอร์เป็นผู้หนึ่งที่ลงคะแนนเสียงให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จอมพล เพาล์ ฟอน ฮินเดนบุร์ก (Paul von Hindenburg)* จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนต่อมา ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองเป็นครั้งแรกเมื่อพรรคนาซีได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลผสมและฮิตเลอร์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ชเปงเลอร์มีโอกาสได้พบฮิตเลอร์ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ประทับใจและคิดว่าฮิตเลอร์ไม่น่าจะเป็นวีรบุรุษที่แท้จริงของชาวเยอรมันได้ แม้จะมีผู้นำพรรคนาซีหลายคนพยายามชักชวนให้ชเปงเลอร์เข้าร่วมเป็นสมาชิกและมีบทบาทในพรรค ชเปงเลอร์ก็ปฏิเสธ เขาเห็นว่าพรรคนาซีมีพฤติกรรมเหมือนเด็กที่ขาดวุฒิภาวะ ชอบแต่จะแสดงความรักชาติอย่างเอิกเกริกและแสดงอำนาจอย่างฉาบฉวย ทั้งไม่เข้าใจความสำคัญของปรัชญาความนึกคิดและความเป็นไปอย่างแท้จริงของยุคสมัย หนังสือเล่มใหม่ของเขาชื่อ The Hour of Decision ซึ่งออกมาในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๓๓ และเผยแพร่อย่างกว้างขวางกลายเป็นหนังสือขายดีที่สุด ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ในหนังสือเล่มนี้ ชเปงเลอร์แสดงความเห็นที่มีต่อพรรคและผู้นำพรรคนาซีรวมทั้งทิศทางที่ควรเป็นสำหรับอนาคตของประเทศอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก โดยเขากล่าวถึงความใจแคบและความมีอคติของพรรคนาซีซึ่งล้วนแต่จะสร้างศัตรูโดยเฉพาะศัตรูนอกประเทศ เขาคาดการณ์ว่าปฏิบัติการของพรรคนาซีจะนำไปสู่สงครามโลกอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ พรรคนาซีเองไม่เคยคิดจะระวังภัยอันเกิดแต่พลังอำนาจจากภายนอกประเทศที่จะเข้ามายํ่ายีและทำลายเยอรมนีทั้งประเทศ สมาชิกพรรคนาซีมักจะเชื่อว่าตนอยู่ได้โดยลำพังจึงมองข้ามความสำคัญของโลกภายนอกหรือบางครั้งก็ต่อต้านโลกทั้งโลกด้วย ชเปงเลอร์เห็นว่าการมีทัศนคติที่คับแคบและมีความคาดหวังว่าประเทศจะยิ่งใหญ่ได้โดยไม่คำนึงถึงโลกภายนอกเป็นการสร้างวิมานในอากาศโดยแท้และเป็นการเริ่มต้นการสูญสลายของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* หนังสือ The Hour of Decision ถูกทางการเยอรมันลังเก็บและห้ามการวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้แต่เอ่ยชื่อชเปงเลอร์ในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างเด็ดขาด

 ชเปงเลอร์ใช้เวลาในบั้นปลายชีวิตฟังเพลงของลุดวิก ฟาน เบโทเฟน (Ludwig van Beethoven) อ่านงานเขียนของชอง-บาตีสต์ โปเกอแลง โมลีแยร์ (Jean-Baptiste Poquelin Molière) และวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ชื่อหนังสือที่เขาชอบ และสะสมอาวุธโบราณ ของตุรกี เปอร์เซีย และอินเดีย บางครั้งเขาเดินทางไปพักผ่อนในอิตาลีและหวนรำลึกถึงความหลังในวัยเด็กด้วยการกลับไปพักผ่อนแถบภูเขาฮาร์ซ ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ก่อนเสียชีวิตไม่นานนักเขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่ง มีใจความสำคัญเป็นข้อสังเกตเชิงทำนายไว้ตอนหนึ่งว่า “จักรวรรดิไรค์อาจสิ้นสลายใน ๑๐ ปีนี้”

 ออสวอลด์ อาร์โนลด์ กอทท์ฟรีด ชเปงเลอร์เสียชีวิต เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน สามสัปดาห์ก่อนที่เขาจะอายุครบ ๕๖ ปี และ ๙ ปีเต็มก่อนที่จักรวรรดิไรค์ที่ ๓ จะล่มสลาย.



คำตั้ง
Spengler, Oswald Arnold Gottfried
คำเทียบ
นายออสวอลด์ อาร์โนลด์ กอทท์ฟรีด ชเปงเลอร์
คำสำคัญ
- ชเปงเลอร์, ออสวอลด์ อาร์โนลด์ กอทท์ฟรีด
- เซคท์, ฮันส์ ฟอน
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- ระบอบเก่า
- ลัทธินาซี
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิสังคมนิยม
- ลิทัวเนีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1880-1936
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถืยร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-